หนึ่งสัปดาห์หลังคำแถลงหยุดยิง กับข้อสังเกตจาก นิมุ มะกาเจ
“ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” เป็นคำพูดของ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก (อดีต ผบ.ทบ.) และหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่ออกมาแอ่นอกแสดงสปิริตล่วงหน้า หลังถูกตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลกรณีนำบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็น "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" อ่านแถลงการณ์หยุดยิงและยุติการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกอากาศผ่านโทรทัศน์ทุกช่องเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาตลอด 7 วันนับตั้งแต่วันพุธที่แล้วจนถึงพุธนี้ ในสามจังหวัดยังมีเหตุร้ายเกิดขึ้นทุกวัน แม้ช่วงแรกจะเบาบางเพียงวันละ 1-2 เหตุการณ์ แต่ยิ่งนานวันเหตุการณ์ยิ่งรุนแรงและถี่ยิ่งขึ้น ที่สำคัญคงอ้างไม่ได้ว่า เหตุการณ์ประเภทลวงตำรวจไปกดระเบิดบาดเจ็บถึง 10 นาย หรือโจมตีชุด รปภ.ครู จนมีทหารเสียชีวิต ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันมานี้ เป็นการก่อเหตุในลักษณะ "ควันหลง" หลังการเจรจาสันติภาพ เพราะขณะนี้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เองหลายหน่วยก็ออกมายอมรับตรงกันแล้วว่า เป็นการก่อเหตุของกลุ่มแนวร่วมที่ต้องการตอบโต้คำแถลงหยุดยิง! คำถามก็คือ พล.อ.เชษฐา จะรับผิดชอบอย่างไร? ระหว่างที่สังคมยังรอคำตอบจากหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมีคำถามคาใจเกี่ยวกับกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย นิมุ มะกาเจ มองเรื่องนี้ด้วยสายตาของผู้ทรงคุณวุฒิประจำจังหวัดยะลา และอดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พร้อมตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจ "ชื่อกลุ่มเป็นชื่อใหม่ คือกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย มีเครื่องหมายคือ สีในธง รูปลักษณ์ สัญลักษณ์ รวมทั้งผู้ที่ออกมาประกาศ และผู้แปล มิได้ระบุชื่อ ตำแหน่ง เป็นบุคคลที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ขอวิจารณ์ว่า
1.ผู้ประกาศ คือนายลุกมัน บินลิมา หรือ นายมะรีเป็ง คาน น้องชายหรือพี่ชายของ นายซำซุดิง คาน (รองเลขาธิการกลุ่มพูโลเก่า) ใช่หรือไม่
2.ทั้งสามชื่อนั้นเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่
3.หรือจะเป็น หะยีอิสมะแอ มะรือโบ หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธขบวนการพูโล ที่เคยเคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ระหว่างปี 2528-2530
4.บุคคลที่ปรากฏทั้ง 3 คนมีการเสริมแต่งหน้าตาหรือไม่
5.เป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายปาทานหรือไม่"
นอกจากข้อวิจารณ์ในเชิงตั้งคำถามแล้ว นิมุ ยังวิเคราะห์เรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละมุม โดยแยกเป็นประเด็นๆ ดังนี้
1.ประกาศนี้ (หยุดยิง) มีอำนาจเพียงพอหรือไม่ และเป็นที่ยอมรับของขบวนการอีกหลายๆ กลุ่มมากน้อยเพียงใด
2.ระยะเวลา 1 เดือนเพื่อเป็นการพิสูจน์ (ตามคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.เชษฐา)เพียงพอหรือไม่
3.ผู้แปลมีสำเนียงที่คล้ายกับชาวบ้านในพื้นที่ของจังหวัดสงขลาเพียงใด
4.ผู้ที่เป็นคนแปลนั้น คือ อุสตาซอาซิส เป็นหนึ่งใน 130 คนไทยที่อพยพออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้ามฝั่งไปยังประเทศมาเลเซียเมื่อราว เดือนกันยายน 2548 ที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงนั้นใช่หรือไม่ หรือชื่อ นายสะแปอิง กูนิเนาะสตา
ข้อพิจารณาต่อมาก็คือหากว่าคำแถลงดังกล่าวเป็นความจริง และคำประกาศหยุดยิงเกิดได้ผล ต่อไปควรจะทำอย่างไร ซึ่ง นิมุ อธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
1.รัฐบาลจะรับไปดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่ ให้ใครรับไปดำเนินการระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือ ผบ.ทบ.หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.การเจรจาที่อาจจะต้องมีในอนาคตต้องทำเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้มากน้อยเพียงใด และคนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ เพียงใด
3.ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำประเภทต่างๆในพื้นที่ขาดเอกภาพในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้เกิดเอกภาพอันจะเป็นความต่อเนื่องในข้อตกลงด้านต่างๆ (ที่อาจมีขึ้น) ให้เป็นไปด้วยดีในอนาคต จะให้ฝ่ายใดบริหารจัดการ ทำอย่างไร
4.เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต มีกลุ่มขบวนการที่ประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน ต่อมามีขบวนการเพิ่มมากขึ้น บางกลุ่มแยกเพิ่มและขัดแย้งกันเอง ระยะหลังจนถึงปัจจุบันมีหลายกลุ่ม และมีกลุ่มแทรกซ้อนจากผู้หวังประโยชน์จากคนหลายฝ่ายหลายระดับ เล่าลือทั้งความเป็นจริงและ ความเป็นเท็จ พฤติกรรมรุนแรงโหดร้ายมาก จนมีการประณามบ้าง สาปแช่งบ้าง ผู้ประกาศจะรับส่วนนี้ได้เพียงใด ขบวนการอีกหลายกลุ่มนั้นจะร่วมมือด้วยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
5.ผู้ที่เสียประโยชน์จากประกาศนี้มีหรือไม่ มีโอกาสเป็นมือที่สามในการสร้างสถานการณ์ต่อเนื่องหรือไม่ ฝ่ายใดจะป้องกัน และแก้ไข
นิมุ ในฐานะผู้นำศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ยังเสนอแนวทางรับมือกับสถานการณ์ในพื้นที่เอาไว้ว่า
1.ชาวบ้านต้องมีพลังชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการทุกกิจกรรมในพื้นที่
2.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการตามโครงการต่างๆ ที่มุ่งหมายให้ชาวบ้านชนบทได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ ช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ โครงการต้องต่อเนื่องไม่ขาดตอน
"ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีมุมมองในทางที่ดี พิจารณาว่าตั้งแต่มีการประกาศการหยุดยิง ณ วันที่ 14 รอยับ 1429 ซึ่งตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 นั้น มีแค่เสียงสรรเสริญ เสียงดีใจ เสียงตอบรับที่ดีจากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้มีความคลางแคลงใจในหลายประการก็ตาม แต่ก็ไม่มีเสียงคัดค้านหรือเสียงต่อต้านการประกาศหยุดยิงจากชาวบ้านที่เคยประสบกับภาวะความเครียด หวาดหวั่น หวาดผวา" "จึงอยากใคร่ขอเรียกร้องให้กลุ่มขบวนการต่างๆ ทั้งที่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลักษณะต่างๆ ทั้งเหตุการณ์เบาและรุนแรง เห็นแก่จิตใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรียกร้องขอความสันติ (สันติ-อิสลาม) ในพื้นที่ ขอร้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่โดยตรงหรือมีอำนาจตามกฎหมาย เปิดประตู่เข้าสู่ความสันติ (สันติ-อิสลาม) พิจารณารองรับความเป็นไปได้ เมื่อหลังจากผ่านการทดสอบเบื้องต้นที่มีการหยุดยิง หยุดเหตุการณ์ความรุนแรงผ่าน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อหาข้อตกลงในอนาคต จะได้ทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประโยชน์ของคนประเทศชาติโดยส่วนรวม อย่าได้คำนึงถึงผลประโยชน์แฝงต่อคนหรือกลุ่มคนหรือคณะใดๆ ก็ตาม" "หากได้ตามนั้นแล้ว ข้อวิจารณ์ ข้อวิเคราะห์ ประเด็นพิจารณาข้างต้นจะไม่มีความหมาย เพราะประชาชนส่วนใหญ่เชื่อในคำพูดของผู้ประกาศที่เป็น มุสลิม และเมื่อฝ่ายกลุ่มขบวนการต่างๆ และฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองพบแนวทางร่วมกันที่ดีกระทั่งได้ผลดี ผลดีนั้นก็ตกเป็นของประชาชนในพื้นที่ สันติอันเที่ยงตรงที่พึงประสงค์จะเกิดและจะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป"